ความคิดที่แตกต่างไม่เหมือนกันอาจเป็นชนวนให้เกิดความ แตกแยกในสังคมหลายๆประเทศ แต่ถ้าลองคิดต่างอย่างสร้างสรรค์ล่ะก็ นอกจากจะไม่ทะเลาะเบาะแว้งกันแล้ว เผลอๆอาจทำเงินทำทองให้ อย่างมหาศาล เปลี่ยนสถานะจากคนตกงานไร้อนาคตขึ้นแท่นเป็นสุดยอดมหาเศรษฐีอันดับท็อปๆของ โลกเพียงชั่วข้ามคืน
จะว่ากันไปแล้ว คนกล้าคิดต่างอย่างสร้างสรรค์ก็มีอยู่ไม่น้อยในสังคมโลก แต่รายที่คิดต่างมีไอเดียน่าทึ่ง ทั้งๆที่อายุยังน้อย คงไม่มีใครโด่งดังเกินหน้า มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก แฮ็กเกอร์หนุ่มจากฮาร์วาร์ด ผู้ก่อตั้ง Facebook เครือข่ายสังคมออนไลน์ขนาดใหญ่สุดของโลก จนโด่งดังเปรี้ยงปร้างไปทั่ว และได้รับการจัดอันดับจากนิตยสารไทม์ให้เป็นบุคคลที่ทรงอิทธิพลที่สุดของโลก ประจำปี 2008 ขณะอายุเพียง 23 ปี โดยปัจจุบันมีผู้ใช้เฟซบุ๊กมากกว่า 400 ล้านคน นับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งเมื่อ 6 ปีก่อน วันที่ 4 ก.พ. ปี 2004
ย้อนกลับไปในวัยเด็ก "มาร์ค" มีชีวิตแสนจะธรรมดา เขาเกิดในครอบครัวอเมริกันเชื้อสายยิว เมื่อวันที่ 14 พ.ค. ปี 1984 โตมาในย่าน ดอบส์ เฟอร์รี รัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา มีพ่อเป็นหมอฟันและนักจิตวิทยา ชีวิตวัยเด็กของเขาค่อนข้างจะสุขสบาย ไม่เคยผ่านความลำบากยากจน เขามีพี่น้อง 4 คน ทว่า เป็นลูกชายคนเดียวของบ้าน เป็นเด็กเรียนเก่งออกแนวเนิร์ดๆ ชอบขลุกอยู่แต่ในห้อง
"มาร์ค" เริ่มเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์เป็นตั้งแต่เรียนชั้นประถม พอขึ้นชั้นมัธยม ก็ร่วมกับเพื่อน เขียนปลั๊กอินสำหรับโปรแกรม Winamp ในเครื่องเล่น MP3 เพื่อช่วยให้ผู้ใช้สามารถสร้างรายการเพลงโปรดส่วนตัวโดยอัตโนมัติ และหลังจากเขานำไอเดียสุดจ๊าบโพสต์บนอินเตอร์เน็ตให้ดาวน์โหลดฟรี ก็ ได้รับโทรศัพท์จากค่ายบริษัทยักษ์ใหญ่ AOL และไมโครซอฟท์ ชักชวนให้ไปทำงานด้วย กระนั้น เขาปฏิเสธความหวังดี เพราะรู้ทันว่าจะถูกฮุบไอเดียไปฟรีๆ และตัดสินใจเข้าเรียนต่อด้านคอมพิวเตอร์ ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เพื่อรอโอกาสทองในการสร้างผลงานมาสเตอร์พีซ
ไอเดียสำคัญที่จุดประกายให้นักศึกษาวิชาคอมพิวเตอร์ วัย 20 ปีคนนี้ ลุกขึ้นทำเฟซบุ๊กเกิดจากความหมกมุ่นอยู่กับเรื่องคอมพิวเตอร์ และการเขียนโปรแกรม จนค้นพบปัญหาว่ามหาวิทยาลัยระดับโลกอย่างฮาร์วาร์ดไม่มีระบบหนังสือรุ่นทาง ออนไลน์ เขาจึงนำไอเดียไปเสนอเพื่อขอจัดทำ แต่กลับถูกมหาวิทยาลัยปฏิเสธ โดยบอกว่าไม่มีนโยบายให้นักศึกษาเข้าถึงข้อมูลดังกล่าว
กระนั้น ด้วยความคันไม้คันมือ และอยากเอาชนะ เขาจึงสวมวิญญาณแฮ็กเกอร์เจาะเข้าไปในระบบทะเบียนประวัตินักศึกษาของฮาร์วา ร์ด ดึงรูปนักศึกษาและประวัติส่วนตัวจากฐานข้อมูลมหาวิทยาลัยมาใส่ในเว็บไซต์ Facemash พร้อมกันนี้ยังเชิญชวนเพื่อนๆนักศึกษาเล่นเกม Hot or Not โดยโพสต์รูป นักศึกษาให้เพื่อนๆเข้ามาช่วยกันโหวตว่าใครฮอต หรือไม่ฮอต ผลตอบรับดีเกินคาด เพราะภายในเวลาแค่ 4 ชั่วโมง มีนักศึกษาเข้ามาโหวตถึง 450 คน สร้างสถิติคลิกชม 22,000 ครั้ง แต่แทนที่จะได้รับเสียงชมจากอาจารย์ เขากลับถูกมหาวิทยาลัยลงโทษระงับการใช้อินเตอร์เน็ต
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกลายเป็นแรงบันดาลใจให้เขาลุยต่อเพื่อสร้าง Facebook โดยเขานั่งเขียนโปรแกรมอยู่ในหอพักมหาวิทยาลัย และได้รับความช่วยเหลือจากรูมเมต "ดัสติน มาสโควิตซ์" ซึ่งภายหลังได้กลายมาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งเฟซบุ๊ก และรั้งตำแหน่งวีพีด้านเอนจิเนียริ่ง แรกเริ่มเขาพยายามเชิญชวนเพื่อนๆนักศึกษาส่งรูปและข้อมูลส่วนตัวเข้ามาโพสต์ บนเว็บไซต์ ซึ่งมีคนส่งรูปเข้ามาถึง 500 รูป ต่อมาได้พัฒนาโปรแกรมโดยสร้างเว็บเพจให้ เพื่อนร่วมชั้นสามารถส่งอีเมล์เข้ามาช่วยกันเขียนความคิดเห็น และเพิ่มเติม ประวัติได้อย่างไม่จำกัด ปรากฏว่าได้รับการตอบรับอย่างดีจากเว็บไซต์ เพื่อสร้างสัมพันธ์ในหมู่นักศึกษาฮาร์วาร์ด จึงขยายความฮิตฮอตไปยังมหาวิทยาลัยอื่นๆกว่า 30 สถาบัน
ชีวิตของเขาต้องมาถึงทางแยก เมื่อเขากับเพื่อนๆชวนกันเดินทางไปดูลาดเลาที่พาโล อัลโต ซึ่งเป็นซิลิคอน วัลเลย์ ในรัฐแคลิฟอร์เนีย เพื่อหาเงินลงทุนก่อตั้งบริษัท และพัฒนาเว็บไซต์ ตอนนั้น พวกเขายังมีแผนจะกลับมาเรียนต่อในช่วงเปิดเทอม แต่ท้ายสุด เมื่อได้รับไฟเขียวอนุมัติเงินลงทุนถึง 500,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ภาพของ "บิลล์ เกตส์" ผู้สร้างตำนานลาออกจากฮาร์วาร์ด เพื่อมาสร้างไมโครซอฟท์ จึงผุดขึ้นตรงหน้า ทำให้ตัดสินใจทิ้งปริญญา และบอกกับตัวเองว่า ถ้าไมโครซอฟท์เจ๊งเมื่อไหร่...จะกลับไปเรียนฮาร์วาร์ดทันที!!